"เรามีความชำนาญเฉพาะทางด้านการนวดจัดกระดูก (Chiropractic) , เชี่ยวชาญเรื่องกระดูก เส้นประสาท เส้นเอ็น ข้อต่อ และ กล้ามเนื้อ บรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดจากกระดูกทับเส้นประสาท แนวกระดูกผิดรูป อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สมดุล ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวด ตามที่ต่างๆ ของร่างกาย การนวดจัดกระดูกเป็นการนวดเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ไม่ถูกกดทับ ซึ่งเป็นนวดที่บรรเทาอาการปวดที่ปลอดภัย โดยไม่ต้องฉีดยา ไม่ต้องทานยา และแก้ปัญหาอาการปวดได้ตรงจุด ตามแบบฉบับของประเทศจีนที่สั่งสมเทคนิคการนวดจัดกระดูกถ่ายทอดตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน

โรคลมชัก (Epilepsy)

โรคลมชัก (Epilepsy) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของร่างกาย จนทำให้เกิดอาการชัก โรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ก็มักจะพบในผู้ป่วยเด็ก และผู้สูงอายุ โดยโรคลมชักนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถช่วยให้อาการสงบและไม่มีอาการชักกำเริบได้หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง


อาการโรคลมชัก

อาการของโรคลมชักที่เห็นได้ชัดคือการชักในรูปแบบต่าง ๆ โดยผู้ป่วยแต่ละคน อาจเกิดอาการชักได้หลายรูปแบบ อาการชักที่มักพบได้บ่อย จะแบ่งออกได้ ดังนี้

อาการชักที่มีผลต่อทุกส่วนของสมอง (Generalized Seizures) เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นกับสมองทั้ง 2 ซีก แบ่งได้เป็น 2 ชนิดย่อย ๆ คือ

อาการชักแบบเหม่อลอย (Absence Seizures) เป็นอาการชักที่มักเกิดขึ้นในเด็ก อาการที่โดดเด่นคือการเหม่อลอย หรือมีการขยับเขยื้อนร่างกายเพียงเล็กน้อย เช่น การกระพริบตาหรือขยับริมฝีปาก อาการชักชนิดนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสียการรับรู้ในระยะสั้น ๆ ได้

อาการชักแบบชักเกร็ง (Tonic Seizures) เป็นอาการชักที่ทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยมักจะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณหลัง แขนและขา จนทำให้ผู้ป่วยล้มลงได้

อาการชักแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Atonic Seizures) อาการชักที่ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง ผู้ป่วยที่มีอาการชักชนิดนี้จะไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อขณะเกิดอาการได้ จนทำให้ผู้ป่วยล้มพับ หรือหกล้มลงได้อย่างเฉียบพลัน

อาการชักแบบชักกระตุก (Clonic Seizures) เป็นอาการชักที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ โดยอาจทำให้เกิดการขยับเขยื้อนในจังหวะซ้ำ มักเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณคอ ใบหน้า และแขน

อาการชักแบบชักกระตุกและเกร็ง (Tonic-clonic Seizures) เป็นอาการชักที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อในร่างกายทุกส่วน ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งและกระตุก ส่งผลทำให้ผู้ป่วยล้มลง และหมดสติ บางรายอาจร้องไห้ในขณะที่ชักด้วย และหลังจากอาการบรรเทาลง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหนื่อยเนื่องจากอาการชัก

อาการชักแบบชักสะดุ้ง (Myoclonic Seizures) อาการชักชนิดนี้มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน โดยจะเกิดอาการชักกระตุกของแขนและขาคล้ายกับการโดนไฟฟ้าช็อต ส่วนใหญ่มักจะเกิดหลังจากตื่นนอน บ้างก็เกิดขึ้นร่วมกับอาการชักแบบอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน

อาการชักเฉพาะส่วน (Partial หรือ Focal Seizures) อาการชักประเภทนี้จะเกิดขึ้นกับสมองเพียงบางส่วน ทำให้เกิดอาการชักที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

อาการชักแบบรู้ตัว (Simple Focal Seizures) สำหรับอาการชักประเภทนี้ ขณะที่เกิดอาการ ผู้ป่วยจะยังคงมีสติครบถ้วน โดยผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกแปลก ๆ หรือมีความรู้สึกวูบ ๆ ภายในท้อง บ้างก็อาจรู้สึกเหมือนมีอาการเดจาวู ซึ่งเป็นความรู้สึกเหมือนว่าเคยพบเห็นหรือเกิดเหตุการณ์ที่ประสบอยู่มาก่อน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคย อาจเกิดความรู้สึกร่าเริงหรือกลัวอย่างกะทันหัน และได้กลิ่นหรือรับรู้รสชาติแปลกไป รู้สึกชาที่แขนและขา หรือมีอาการชักกระตุกที่แขนและมือ เป็นต้น ทั้งนี้ อาการชักดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการชักชนิดอื่น ๆ ที่กำลังตามมา อาการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยและคนรอบข้างเตรียมรับมือได้ทัน

อาการชักแบบไม่รู้ตัว (Complex Partial Seizures) สามารถเกิดขึ้นโดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวและไม่สามารถจดจำได้ว่าเกิดอาการขึ้นเมื่อใด ไม่ว่าจะในขณะที่เกิดอาการหรืออาการสงบแล้ว อาการชักชนิดนี้ไม่สามารถคาดเดาได้ โดยอาจมีอาการเช่น ขยับริมฝีปาก ถูมือ ทำเสียงแปลก ๆ หมุนแขนไปรอบ ๆ จับเสื้อผ้า เล่นกับสิ่งของในมือ อยู่ในท่าทางแปลก ๆ เคี้ยวหรือกลืนอะไรบางอย่าง นอกจากนี้ ในขณะที่เกิดอาการ ผู้ป่วยจะไม่สามารถรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบข้างได้เลย

อาการชักต่อเนื่อง (Status Epilepticus) อาการชักชนิดนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป หรือเป็นอาการชักต่อเนื่องที่ผู้ป่วยไม่สามารถคืนสติในระหว่างที่ชัก ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการรักษาในเบื้องต้นสามารถทำได้โดยผู้ที่ผ่านการฝึกการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักชนิดต่อเนื่อง แต่หากไม่เคยได้รับการฝึก ควรโทรแจ้งหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน อาทิ ศูนย์นเรนทร 1669 หรือโรงพบาบาลเพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาให้เร็วที่สุด

บางครั้งอาการชักแบบเฉพาะส่วนนั้น อาจคล้ายกับอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอื่น ๆ อาทิ อาการปวดหัวไมเกรน ซึ่งอาจมีอาการเห็นแสงวูบวาบ โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติในการนอนหลับ ซึ่งอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบกะทันหัน หรืออาการของโรคจิต จึงมีความจำเป็นมากที่ต้องใช้การทดสอบและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อแยกโรคลมชักออกจากโรคอื่น ๆ


สาเหตุของโรคลมชัก

สาเหตุของโรคลมชักนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด โดยผู้ป่วยมากกว่าครึ่งเกิดอาการของโรคลมชักโดยไม่ทราบสาเหตุ และในกลุ่มที่สามารถระบุสาเหตุได้ก็มักเกิดจาการที่สมองถูกการกระทบกระเทือน ทั้งนี้ภายในสมองนั้นเต็มไปด้วยเซลล์ประสาท กระแสไฟฟ้า และสารเคมีที่ถูกเรียกว่าสารสื่อประสาท หากถูกกระทบกระเทือนและเกิดความเสียหายก็อาจทำให้สมองเกิดการทำงานที่ผิดปกติจนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการชัก โรคลมชักสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

กลุ่มที่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ (Symptomatic หรือ Secondary Epilepsy)

คือกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถหาสาเหตุของโรคลมชักได้ โดยอาจเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง เกิดจากอุบัติเหตุที่ศีรษะอย่างรุนแรง การติดยาเสพติด หรือพิษสุราเรื้อรัง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเกิดจากการขาดออกซิเจนขณะคลอด นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการพัฒนาของสมองที่ไม่สมบูรณ์ได้อีกด้วย โดยสาเหตุเหล่านี้ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดโรคลมชักในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ สามารถเกิดอาการในผู้ป่วยโรคลมชักโดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ แต่ก็มีในบางกรณี หรือการใช้สารบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการชักได้ เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยารักษาอาการบางชนิดหรือการใช้ยาเสพติด ภาวะมีประจำเดือนของผู้หญิง นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งแต่เป็นจำนวนน้อยที่สามารถเกิดอาการชักได้หากเห็นแสงแฟลชที่สว่างจ้า โดยอาการชักที่เกิดจากสาเหตุนี้เรียกว่า โรคลมชักที่ผู้ป่วยไวต่อแสงกระตุ้น (Photosensitive Epilepsy)

โรคลมชัก เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคลมชักสูง โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้คนทั่วไปเป็นโรคลมชักนั้น ได้แก่

อายุ โรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุแต่ก็มักเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กตอนต้น และช่วงอายุ 60 ขึ้นไป

ประวัติครอบครัว หากในครอบครัวนั้นมีประวัติว่ามีผู้ป่วยโรคลมชัก ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมชักในครอบครัวก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

อาการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง เป็นสาเหตุที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคลมชัก ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยง ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่จะกระทบกระเทือนกับศีรษะ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ศีรษะ

โรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากหลอดเลือดสมอง จนทำให้สมองถูกทำลายสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคลมชักได้

โรคสมองเสื่อม (Dementia) โรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองโดยตรง ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุ โรคนี้สามารถทำให้ความเสี่ยงโรคลมชักเพิ่มขึ้นได้

การติดเชื้อที่สมอง (Brain Infections) อาทิโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบที่สมองหรือไขสันหลัง ทำให้สมองและระบบทำงานของประสาทผิดปกติจนเกิดโรคลมชัก

อาการชักในวัยเด็ก อาการชักจากไข้สูงนั้นโดยส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เกิดโรคลมชัก แต่ก็อาจทำให้ความเสี่ยงโรคลมชักเพิ่มขึ้นหากมีอาการชักที่ยาวนาน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทอื่น ๆ รวมทั้งมีประวัติโรคลมชักในครอบครัว


การป้องกันโรคลมชัก

แม้ว่าจะยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคลมชัก แต่ในบางกรณีก็สามารถป้องกันไม่ให้อาการชักกำเริบได้ด้วยวิธีเหล่านี้

รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง
ผู้ป่วยโรคลมชักไม่ควรเปลี่ยนปริมาณยาด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์หากรู้สึกว่าการรับประทานยาไม่สามารถควบคุมอาการชักได้

นอนหลับให้เพียงพอ
การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถกระตุ้นอาการชักได้ ดังนั้นจึงควรนอนหลับวันละ 6-8 ชั่วโมง

สวมป้ายข้อมือทางการแพทย์
การสวมใส่ป้ายข้อมือที่ระบุว่าเป็นโรคลมชัก สามารถช่วยให้คนรอบข้างช่วยผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีเมื่ออาการกำเริบ

ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดอาการภาวะซึมเศร้าได้ แต่ก็ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และควรหยุดพักหากรู้สึกเหนื่อย


ป้องกันการบาดเจ็บที่สมอง

อาการบาดเจ็บที่สมองคือสาเหตุของโรคลมชักที่มักพบได้บ่อย ดังนั้นจึงควรป้องกันไม่ให้ศีรษะถูกกระทบกระเทือน ด้วยวิธีดังนี้

ขับขี่อย่างปลอดภัย ใช้อุปกรณ์ป้องกัน คาดเข็มขัดนิรภัย หมวกกันน็อก หากผู้โดยสารเป็นเด็กเล็กควรจัดให้นั่งบนที่นั่งเฉพาะสำหรับเด็กเพื่อความปลอดภัย

เดินอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการหกล้ม โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะพลัดตกหกล้มได้ง่าย ดังนั้นควรมีคนคอยดูแลอยู่เสมอ

ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะจนเกิดการบาดเจ็บที่สมอง ควรหมั่นดูแลรักษาตัวเองให้มากขึ้นกว่าปกติ เพื่ือหลีกเลี่ยงการเกิดโรคลมชักที่อาจเกิดขึ้นได้หากการดูแลรักษาไม่ดีพอ

ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง

เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคลมชักในผู้สูงอายุ ดังนั้นการป้องกันโรคลมชัก รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด คือการดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ เท่านี้ก็จะช่วยลงความเสี่ยงลงได้

ล้างมือให้สะอาดและรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ

โรคพยาธิตืดหมู (Cysticercosis) คือหนึ่งในสาเหตุของโรคลมชักที่สามารถพบได้ โดยโรคนี้มีสาเหตุมาจากพยาธิที่อยู่ในอาหารที่ปนเปื้อนและไม่ไม่ผ่านการปรุงสุก ดังนั้นการหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก และหมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหารเข้าปากจะสามารถช่วยป้องกันโรคพยาธิตัวตืดหมูอันก่อให้เกิดโรคลมชักได้

ดูแลสุขภาพในขณะตั้งครรภ์

ปัญหาสุขภาพในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์และในช่วงการทำคลอดเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกที่เกิดมาเป็นโรคลมชักได้ ดังนั้นมารดาจึงควรดูแลสุขภาพและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามดูแลสุขภาพทั้งแม่และเด็ก จะช่วยให้ความเสี่ยงโรคลมชักของทารกลดลง


การปฏิบัติตนเมื่อพบผู้ป่วยเกิดอาการชัก

ไม่เพียงแต่ตัวผู้ป่วยเท่านั้นที่จะต้องรับมือกับผู้ป่วยที่มีอาการชัก ผู้คนรอบข้างที่ทำงานหรืออาศัยร่วมกับผู้ป่วยโรคลมชักควรต้องรู้วิธีการรับมือกับอาการชักของผู้ป่วยที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน วิธีการปฏิบัติตนของคนรอบข้างเมื่อพบผู้ป่วยเกิดอาการชักมีดังนี้

  • ค่อย ๆ พลิกตัวผู้ป่วยไปด้านใดด้านหนึ่ง
  • หาวัสดุนิ่ม ๆ เช่นหมอน หรือผ้าหนา ๆ รองไว้ใต้ศีรษะผู้ป่วย
  • ปลดเครื่องประดับที่คอ หรือปลดกระดุมเสื้อที่บริเวณคอผู้ป่วยออกเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • ห้ามนำนิ้วมือหรือสิ่งของเข้าไปในปาก เพราะอาจตกลงไปในคอจนทำให้หายใจไม่ออก อีกทั้งความเชื่อที่ว่าคนที่เกิดอาการชักจะกัดลิ้นตัวเองนั้นไม่เป็นความจริง
  • อย่าพยายามมัดตัวเพื่อหยุดอาการชักของผู้ป่วย
  • หากผู้ป่วยที่มีอาการชักกำเริบมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ควรนำสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายไปให้ห่างตัว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจคาดไม่ถึง
  • อยู่กับผู้ป่วยจนกว่าบุคลากรทางการแพทย์จะเดินทางมาถึง
  • สังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับอาการชักเมื่อการช่วยเหลือมาถึงได้อย่างถูกต้อง
  • จับเวลาที่เกิดอาการชัก
  • ตั้งสติให้มั่นขณะที่อยู่กับผู้ป่วย ไม่ควรวิตกกังวล หรือตื่นตระหนกจนเกินไป

ขอบคุณที่มา https://www.pobpad.com/โรคลมชัก