นอนไม่หลับ (Insomnia)
เป็นโรคความผิดปกติในการนอน นอนยาก ไม่ง่วงเมื่อถึงเวลานอน นอนหลับไม่สนิท นอนแล้วตื่นกลางดึก ตื่นแล้วกลับไปนอนไม่ได้อีก หรือแม้จะรู้สึกอ่อนเพลียเพียงใดก็ไม่สามารถนอนหลับได้ กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่รบกวนจิตใจและกระบวนการทำงานของร่างกาย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับผู้อื่น
อาการของโรคนอนไม่หลับ
โดยปกติ คนเรามีชั่วโมงการนอนที่แตกต่างกันตามช่วงอายุ โดยจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมสำหรับการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอในแต่ละวัยเป็นดังนี้
ส่วนผู้สูงอายุจะมีชั่วโมงการนอนที่สั้นลง เพราะร่างกายสามารถผลิตสารที่ช่วยให้นอนหลับได้ลดน้อยลง
สาเหตุของโรคนอนไม่หลับ
การนอนไม่หลับเกิดจากหลายสาเหตุปัจจัย ดังนี้
ปัจจัยทางด้านร่างกาย
มีอาการเจ็บป่วยของโรคอยู่แล้ว หรือเจ็บปวดตามจุดและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย จึงทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับแทรกซ้อน เช่น โรคกระเพาะอาหาร ไมเกรน ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โรคมะเร็ง หรือโรคการหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ (Sleep Related Breathing Disorders) หรือกรนขณะนอนหลับก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สัมพันธ์ต่ออาการนอนไม่หลับ โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะหยุดหายใจเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และตื่นขึ้นมาเรื่อย ๆในขณะนอนหลับ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดการเกร็งและการกระตุก อาจทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นกลางดึก นอนหลับไม่สนิทหรือนอนไม่หลับอีกเลยได้เช่นกัน
อีกส่วนหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ปกติเมื่อร่างกายเจริญเติบโตตามช่วงวัยต่าง ๆ และมีอายุเพิ่มมากขึ้น ความต้องการในการนอนหลับพักผ่อนจะลดน้อยลง เพราะร่างกายจะผลิตสารเซโรโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้นอนหลับได้ลดลง จึงมักพบปัญหาการนอนไม่หลับได้มากในช่วงวัยกลางคนเข้าสู่วัยชรา ในวัยชรา และผู้หญิงที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ ซึ่งการนอนไม่หลับเกิดจากฮอร์โมนและสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง
ปัจจัยทางด้านจิตใจ
มีความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หดหู่ ดีใจ หรือตื่นเต้นประหม่าเกิดเป็นความเครียด จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในร่างกาย ทำให้ไม่สามารถนอนหลับตามปกติได้
ปัจจัยภายนอก
มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมมารบกวนประสาทสัมผัสในขณะนอนหลับ เช่น เสียงดังรบกวน แสงที่สว่างจ้า และการรับรู้กลิ่นต่าง ๆ ที่มากจนรบกวนสภาวะผ่อนคลายก่อนการนอนหลับ และการเข้ารับการรักษาบางชนิดก็มีผลให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดจนนอนไม่หลับ เช่น การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy)
ปัจจัยอื่น ๆ
นอกจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น อาการนอนไม่หลับอาจเกิดจากลักษณะนิสัยเฉพาะตัว การนอนผิดเวลาไปจากเวลาปกติที่ร่างกายคุ้นเคย เช่น การทำงานเป็นกะ หรือการปรับตัวไม่ทันจากการเดินทางข้ามเขตเวลาโลก (Jet Lag) การกินอาหารที่มากเกินไปก่อนนอนทำให้นอนหลับไม่สบายตัว การดื่มและใช้สารเสพติด เช่น คาเฟอีนในกาแฟหรือชา นิโคตินในบุหรี่ และยาเสพติดต่าง ๆ ที่มีสารกดประสาททำให้นอนไม่หลับ รวมทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งแม้จะทำให้ผู้ดื่มง่วงนอนในตอนแรก แต่จะมีฤทธิ์กระตุ้นให้นอนหลับไม่สนิทหรือตื่นขึ้นมากลางดึกได้
การป้องกันโรคนอนไม่หลับ
การแก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับ ควรพิจารณาตามความรุนแรงของอาการ หากมีอาการนอนไม่หลับไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการเพียงบางช่วงที่มีปัจจัยต่าง ๆ มากระทบ และไม่ได้มีอาการอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง ผู้มีอาการสามารถดูแลตนเองให้ผ่านพ้นภาวะนี้ได้โดย…
อาการนอนไม่หลับกับแพทย์แผนจีน
นอนไม่หลับในทางการแพทย์แผนจีนมองว่าสาเหตุคือการเชื่อมโยงระหว่างอิน-หยางสูญเสียไป (阴阳失交) คือ หยางแกร่งอินพร่อง หรือขาดความสมดุลนั่นเอง อาการทางคลินิกที่พบบ่อยคือหลับยาก ฝันเยอะ นอนหลับๆตื่นๆ หงุดหงิดง่าย ตื่นนอนไม่กะปรี้กะเปร่า ร่างกายอ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่าย มีอาการผวาในขณะหลับ หรือสะดุ้งตื่นอยู่บ่อยครั้ง ขี้กังวลขี้ตกใจ การตัดสินใจช้าร่วมกับมีอาการหลงๆลืมๆ ซึ่งการรักษาจะเน้นปรับสมดุลอินหยาง เสริมม้ามเพิ่มเลือด ขับเสมหะของเสียที่คั่งค้าง บำรุงหัวใจ ปรับเลือดลมที่ติดขัดในตับและน้ำดี ระบายความร้อนที่อุดกลั้นในตับ เพิ่มสารน้ำในไต