"เรามีความชำนาญเฉพาะทางด้านการนวดจัดกระดูก (Chiropractic) , เชี่ยวชาญเรื่องกระดูก เส้นประสาท เส้นเอ็น ข้อต่อ และ กล้ามเนื้อ บรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดจากกระดูกทับเส้นประสาท แนวกระดูกผิดรูป อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สมดุล ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวด ตามที่ต่างๆ ของร่างกาย การนวดจัดกระดูกเป็นการนวดเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ไม่ถูกกดทับ ซึ่งเป็นนวดที่บรรเทาอาการปวดที่ปลอดภัย โดยไม่ต้องฉีดยา ไม่ต้องทานยา และแก้ปัญหาอาการปวดได้ตรงจุด ตามแบบฉบับของประเทศจีนที่สั่งสมเทคนิคการนวดจัดกระดูกถ่ายทอดตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

กระดูกทับเส้น (Herniated Disc)

กระดูกทับเส้น (Herniated Disc) คือปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกอย่างหนึ่ง เกิดจากหมอนรองกระดูกที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลังถูกทำลายจนเสียหาย ส่งผลให้ไปกดทับเส้นประสาท แนวกระดูกสันหลังประกอบด้วยกระดูกสันหลังจำนวน 30 ชิ้น เริ่มตั้งแต่กระดูกสันหลังส่วนคอ 7 ชิ้น กระดูกสันหลังส่วนกลาง 12 ชิ้น และกระดูกสันหลังส่วนล่างหรือเอวอีก 5 ชิ้น แต่ละส่วนของกระดูกสันหลังบริเวณคอ อก และเอวทั้ง 24 ชิ้นนี้ เชื่อมกันด้วยเนื้อเยื่อซึ่งเป็นแผ่นกลมเรียกว่าหมอนรองกระดูก ด้านในหมอนรองกระดูกมีลักษณะนุ่มเหนียว ส่วนด้านนอกแข็ง หมอนรองกระดูกช่วยให้หลังมีความยืดหยุ่นขณะเคลื่อนไหวและปกป้องกระดูกจากกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทกอย่างการเดิน ยกของ หรือบิดตัว ส่วนกระดูกสันหลังชิ้นที่ 25-30 เชื่อมต่อยาวมาถึงบริเวณก้นกบเป็นเส้นเดียวกัน ไม่มีหมอนรองกระดูกรองรับเหมือนกระดูกสันหลัง 24 ชิ้นแรก

หากได้รับบาดเจ็บหรือกระดูกเสื่อม มักส่งผลให้หมอนรองกระดูกแตก และกระดูกอ่อนส่วนที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกโผล่ออกมา เมื่อหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือกระดูกทับเส้นทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดและไม่สบายตัว หากกระดูกที่เคลื่อนออกมานั้นกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยอาจรู้สึกชา อ่อนแรง หรือเจ็บบริเวณแนวเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาหรือนำกระดูกที่ทับเส้นออกไป โดยส่วนใหญ่ อาการกระดูกทับเส้นมักเกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว ซึ่งอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังส่วนอกและกระดูกใต้กระเบนเหน็บ


อาการกระดูกทับเส้น

กระดูกทับเส้นเกิดขึ้นได้ทุกส่วนตามแนวกระดูกสันหลังซึ่งเริ่มตั้งแต่คอไปจนถึงหลังส่วนล่าง ซึ่งกระดูกสันหลังส่วนล่างเป็นบริเวณที่เกิดกระดูกทับเส้นได้บ่อย ทั้งนี้ กระดูกสันหลังประกอบด้วยเส้นประสาทและเส้นเลือดที่มีโครงสร้างซับซ้อน เมื่อหมอนรองกระดูกเคลื่อนจึงทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทและกล้ามเนื้อที่อยู่ล้อมรอบแนวกระดูกสันหลังได้ ผู้ป่วยกระดูกทับเส้นมักมีอาการ ดังนี้

เจ็บปวดบริเวณที่ถูกกดทับ อาการเจ็บปวดนี้มักกำเริบเมื่อเกิดการกดทับบริเวณเส้นประสาท โดยจะมีอาการเมื่อไอ จาม หากหมอนรองกระดูกทับเส้นที่คอ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บมากบริเวณไหล่และแขน หากกระดูกทับเส้นเกิดขึ้นบริเวณเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic Nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ยาวที่สุดในร่างกายเริ่มตั้งแต่ด้านหลังบริเวณเชิงกราน ก้น ร้าวลงไปถึงขาและเท้าทั้งสองข้าง ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บตั้งแต่ก้นลามไปถึงต้นขาหลัง สะโพก น่อง และเท้า โดยมีอาการเจ็บเล็กน้อยจนรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดร้าวลงขาเมื่อต้องเดินในระยะทางสั้น ๆ และอาการแย่ลงเมื่อยืนขึ้น นั่งลง เคลื่อนไหวบางท่า หรือตอนกลางคืน

รู้สึกชาหรือเสียวปลาบ กระดูกทับเส้นอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกชาหรือเสียวปลาบที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เนื่องจากเส้นประสาทของร่างกายส่วนนั้นถูกกดทับ รวมทั้งเสียวปลาบ ปวด หรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณที่เส้นประสาทถูกกดทับ

กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อบริเวณที่เส้นประสาทถูกกดทับนั้นมีแนวโน้มอ่อนแรง หากกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยมักสะดุดหรือล้มบ่อย หยิบหรือถือของไม่ถนัด หากมีอาการรุนแรงอาจไม่สามารถยกหรือถือของได้


สาเหตุของกระดูกทับเส้น

กระดูกทับเส้นมักเกิดขึ้นเมื่อส่วนนอกของหมอนรองกระดูกแตก ทำให้กระดูกอ่อนที่อยู่ข้างในโผล่ออกมา และกดทับเส้นประสาท สาเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกแตกนั้นเกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม เมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกมักสูญเสียมวลน้ำ ส่งผลให้ขาดความยืดหยุ่นและแตกได้ง่าย แต่โดยทั่วไป ไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดกระดูกทับเส้นได้อย่างชัดเจน แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่นำไปสู่กระดูกทับเส้น ดังนี้

  • น้ำหนักตัวมากเกินไป
  • แบกของหนัก
  • พันธุกรรม
  • ประสบอุบัติเหตุ
  • สูบบุหรี่

การป้องกันกระดูกทับเส้น

ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยชะลอความเสื่อมของหมอนรองกระดูกบริเวณหลัง อีกทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงและยืดหยุ่น นอกจากนี้ ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย และค่อย ๆ ผ่อนแรงหลังออกกำลังกายเสร็จ ไม่ควรเริ่มหรือหยุดออกกำลังกายกะทันหัน ผู้ป่วยกระดูกทับเส้นที่กำลังพักฟื้นร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักหรือรับแรงกระแทกมาก

จัดท่าทางของร่างกายให้เหมาะ การจัดระเบียบท่าทางร่างกายให้ดีจะช่วยลดแรงกดทับที่กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก ควรยืดหลังให้ตรงและอยู่ในแนวขนาน โดยเฉพาะเมื่อต้องนั่งนาน ๆ หากต้องยกของหนัก ควรค่อย ๆ ย่อตัวลง โดยให้น้ำหนักลงที่ขาไม่ใช่ที่หลัง

ควบคุมน้ำหนัก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำให้เกิดแรงกดทับที่กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก เสี่ยงเป็นกระดูกทับเส้น หากคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยลดแรงกดทับของกระดูกได้

งดการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้หมอนรองกระดูกสูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมเร็วกว่าปกติ


ขอบคุณที่มา https://www.pobpad.com/กระดูกทับเส้น