"เรามีความชำนาญเฉพาะทางด้านการนวดจัดกระดูก (Chiropractic) , เชี่ยวชาญเรื่องกระดูก เส้นประสาท เส้นเอ็น ข้อต่อ และ กล้ามเนื้อ บรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดจากกระดูกทับเส้นประสาท แนวกระดูกผิดรูป อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สมดุล ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวด ตามที่ต่างๆ ของร่างกาย การนวดจัดกระดูกเป็นการนวดเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ไม่ถูกกดทับ ซึ่งเป็นนวดที่บรรเทาอาการปวดที่ปลอดภัย โดยไม่ต้องฉีดยา ไม่ต้องทานยา และแก้ปัญหาอาการปวดได้ตรงจุด ตามแบบฉบับของประเทศจีนที่สั่งสมเทคนิคการนวดจัดกระดูกถ่ายทอดตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน

มีบุตรยาก

ภาวะมีบุตรยาก อาการมีบุตรยาก ผู้หญิงที่ประสบภาวะมีบุตรยาก ผู้ชายที่ประสบภาวะมีบุตรยาก สาเหตุมีลูกยาก สาเหตุมีลูกยากของผู้หญิง สาเหตุมีลูกยากของผู้ชาย

ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) หรือภาวะมีลูกยาก คือ ภาวะที่คู่สมรสไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีเพศสัมพันธ์เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 วัน โดยไม่คุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปี ภาวะดังกล่าวถือเป็นปัญหาของคู่รักที่เกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือปัจจัยอื่นรวมกันอันส่งผลต่อการตั้งครรภ์ โดยสาเหตุของภาวะมีลูกยากที่เกิดจากผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 33 เกิดจากผู้ชายคิดเป็นร้อยละ 33 และเกิดจากทั้งผู้ชายและผู้หญิงหรือเกิดจากปัจจัยอื่นที่ระบุไม่ได้คิดเป็นร้อยละ 33 เช่นกัน

โดยทั่วไปแล้ว ระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงจะปล่อยไข่ออกมาจากรังไข่ เพื่อรับการปฏิสนธิจากอสุจิของเพศชาย ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะเคลื่อนตัวจากท่อนำไข่ไปฝังตัวที่มดลูก ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ อายุ 35 ปีขึ้นไป และไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ภายใน 6 เดือนที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่รักอย่างสม่ำเสมอ ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหามีลูกยาก ส่วนผู้ชายที่ประสบภาวะมีลูกยากจะได้รับการตรวจภาวะดังกล่าวด้วยวิธีการทางการแพทย์หลายอย่าง รวมทั้งตรวจอสุจิในห้องทดลองด้วย เพื่อเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้สามารถมีลูกได้


อาการมีบุตรยาก

ผู้ที่ประสบภาวะมีบุตรยากจะไม่สามารถมีลูกหรือตั้งครรภ์ได้ โดยภาวะนี้อาจไม่ปรากฏอาการอื่นออกมาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ชายและผู้หญิงที่ประสบภาวะมีบุตรยากอาจปรากฏสัญญาณบางอย่างจากการทำงานของร่างกายที่แตกต่างกัน โดยผู้หญิงอาจมีประจำเดือนไม่ปกติหรือไม่มีประจำเดือนเลย ส่วนผู้ชายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงของขนที่งอกขึ้นมา หรือระบบร่างกายที่กระตุ้นแรงขับทางเพศเกิดความผิดปกติ ทั้งนี้ ผู้ที่ประสบภาวะมีบุตรยากควรพบแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษาได้ในกรณีต่อไปนี้


ผู้หญิงที่ประสบภาวะมีบุตรยาก

  • อายุ 35-40 ปี โดยพยายามมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักเพื่อตั้งครรภ์เป็นเวลา 6 เดือนหรือมากกว่านั้น
  • อายุ 40 ปีขึ้นไป
  • รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือไม่มีรอบเดือนเลย
  • ปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง
  • มีประวัติประสบภาวะมีลูกยาก
  • ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Inflammatory Disease: PID)
  • เคยแท้งมาแล้วหลายครั้ง
  • เข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง

ผู้ชายที่ประสบภาวะมีบุตรยาก

  • มีจำนวนอสุจิน้อยหรือมีปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ
  • มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอัณฑะ ต่อมลูกหมาก หรือปัญหาทางเพศ
  • เข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง
  • ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดอัณฑะขอด (Varicocele) โดยอัณฑะจะมีขนาดเล็กหรือถุงอัณฑะบวมขึ้น
  • มีบุคคลในครอบครัวที่ประสบภาวะมีลูกยาก

สาเหตุมีลูกยาก

โดยทั่วไปแล้ว การตั้งครรภ์หรือมีลูกเกิดจากกระบวนการตกไข่และกระบวนการปฏิสนธิที่สมบูรณ์ ทั้งนี้ ภาวะมีลูกยากอาจปรากฏตั้งแต่เกิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง สาเหตุของภาวะมีบุตรยากของผู้หญิงและผู้ชายจะแตกต่างกัน ดังนี้


สาเหตุมีลูกยากของผู้หญิง

1.ปัญหาที่ส่งผลต่อการตกไข่ ผู้ที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมออาจตกไข่ได้ยาก ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • ถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS)
  • ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
  • ความผิดปกติของไฮโปทาลามัส (Hypothamus) และต่อมใต้สมอง (Pituitary Glands
  • ประจำเดือนไม่มาจากความเครียด (Functional Hypothalamic Amenorrhea: FHA)
  • ภาวะตกไข่น้อยลง (Diminished Ovarian Reserve: DOR)
  • รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature Ovarian Insufficiency: POI)
  • วัยทอง
  • ท่อนำไข่ตัน (Tubal Patency)
  • การติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

2.ความผิดปกติของมดลูกหรือปากมดลูก

  • เนื้องอกมดลูก
  • ปัญหาเกี่ยวกับมูกที่ปากมดลูก

สาเหตุมีลูกยากของผู้ชาย

ความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานหรือการผลิตอสุจิ

  • การติดเชื้อที่อัณฑะ
  • มะเร็งอัณฑะ
  • ภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง (Undescended Testicles)
  • หลอดเลือดดำอัณฑะขอด (Varicocele) ความผิดปกติเกี่ยวกับอัณฑะที่มีมาแต่กำเนิด
  • การเข้ารับผ่าตัดอัณฑะ
  • การได้รับบาดเจ็บที่อัณฑะ โดยอาจทำให้จำนวนอสุจิลดลง

ปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิ

  • หลั่งเร็ว (Premature Ejaculation)
  • หลั่งช้า (Delayed Ejaculation)
  • หลั่งย้อนทาง (Retrograde Ejaculation)

ความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมน

  • ภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ (Hypogonadism)
  • ความผิดปกติของไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมอง

ปัจจัยอื่นๆ

นอกจากนี้ ภาวะมีลูกยากมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้สูงทั้งในผู้หญิงและผู้ชายนั้น ประกอบด้วย

  • การใช้ยาหรือสารเสพติด
  • น้ำหนักตัว
  • การออกกำลังกาย

การป้องกันการมีบุตรยาก

  • ภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากสาเหตุบางอย่างที่ไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม คู่รักยังมีโอกาสมีลูกได้ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ช่วงที่ฝ่ายหญิงตกไข่ โดยควรเริ่มมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 5 วันก่อนตกไข่ ไปจนถึงหลังวันที่ตกไข่ ทั้งนี้ ภาวะมีลูกยากที่เกิดจากสาเหตุอื่น สามารถป้องกันได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
  • หยุดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ส่งผลต่อสมรรถภาพในการเจริญพันธุ์
  • เลี่ยงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด เช่น กัญชา หรือโคเคน
  • ลดปริมาณการได้รับคาเฟอีน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ควรหักโหมออกกำลังกายมากเกินไป ทั้งนี้ การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นคุณภาพของอสุจิ และเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้มากขึ้น
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไปจะส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมน และนำไปสู่ภาวะมีลูกยากได้
  • เลี่ยงอยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงมาก หรือสถานที่ที่เต็มไปด้วยสารพิษ เนื่องจากสภาพแวดล้อมดังกล่าวส่งผลต่อการผลิตอสุจิ
  • จำกัดการใช้ยาที่ทำให้มีลูกยาก ควรปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ใช้ยาดังกล่าวเป็นประจำ รวมทั้งไม่ควรหยุดใช้ยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
  • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งทำจิตใจให้ผ่อนคลาย เพื่อลดความเครียดในชีวิตประจำวัน

ขอบคุณที่มา https://www.pobpad.com/มีลูกยาก